การตรวจสอบมอเตอร์ในช่วงก่อนหรือระหว่างการทำงาน
ไม่ว่าจะเป็นการบำรุงรักษามอเตอร์แบบใดก็ตาม สิ่งสำคัญที่จะต้องทำการตรวจสอบทั้งในช่วงก่อนการทำงานหรือระหว่างการทำงานก็ดี สามารถสรุปพอสังเขบดังนี้
• การตรวจสอบแบริ่ง โดยปกติควรทำทุกวันหรืออย่างน้อยทุกสัปดาห์ โดยใช้เครื่องช่วยฟังเสียงหรือเครื่องวิเคราะห์การสั่นสะเทือน นอกจากนี้ควรตรวจสอบอุณหภูมิผิวของแบริ่งด้วยเพื่อเปรียบเทียบกับค่าอุณหภูมิปกติ
• การตรวจสอบช่องว่างอากาศ โดยการวัดระยะระหว่างโรเตอร์และสเตเตอร์ทั้งด้านบนและด้านล่างด้วยแผ่นวัดช่องว่าง อย่างน้อยปีละครั้ง ซึ่งค่าความต่างที่อ่านได้ในแต่ละปีจะแสดงถึงสภาพของชุดติดตั้งแบริ่งว่ามีความผิดปกติหรือไม่
• การตรวจสอบความตึงของสายพาน ควรให้สายพานมีความตึงพอดีกับชุดติดตั้ง โดยอาจใช้เครื่องวัดความตึงเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและลดเสียงรบกวนลงได้ โดยปกติการสูญเสียจากสายพานหย่อนเกินไปอาจสูงได้ถึง 5% ดังนั้นควรมีการตรวจสอบและปรับความตึงทุกเดือน
• การตรวจสอบการติดตั้ง โดยการตรวจสอบโบล์ตยึดและฐานเหล็กว่ารองรับการกระเทือนได้ และฐานคอนกรีตไม่เกิดการแตกร้าวหรือกะเทาะ
• การตรวจสอบความต้านทานฉนวน ทุกๆ 2 ปี ควรมีการตรวจสอบวัดค่าความต้านทานฉนวนเพื่อวิเคราะห์ว่าฉนวนมีปัญหาหรือไม่ โดยเฉพาะมอเตอร์ที่เคยถูกน้ำท่วมควรต้องได้รับการทำความสะอาดและทำให้แห้งสนิทก่อนเริ่มใช้งาน โดยทั่วไปค่าความต้านทานของฉนวนอย่างต่ำอาจพิจารณาได้จากตาราง
• การทำให้มอเตอร์สะอาดและเย็น สภาพแวดล้อมในการทำงานที่สกปรก ควรใช้เครื่องเป่าฝุ่นออกจากมอเตอร์บ่อยๆ ส่วนบริเวณที่มีอุณหภูมิสูงควรเผื่อขนาดมอเตอร์ให้มากขึ้น เนื่องจากอุณหภูมิของสภาพแวดล้อมที่สูงเกินจะทำให้อายุการใช้งานมอเตอร์สั้นลง ในทางทฤษฏีอุณหภูมิมอเตอร์ที่สูงขึ้น 25 °C จะทำให้การสูญเสียมีค่าเพิ่มขึ้น 10% ดังนั้นควรพิจารณาตำแหน่งการติดตั้งให้อยู่ในที่ร่ม อากาศถ่ายเทได้สะดวก และทำความสะอาดเปลือกนอกของมอเตอร์อย่างน้อยปีละครั้ง
• การตรวจสอบความร้อน เสียงและการสั่นสะเทือน ทันทีที่เห็นหรือรู้สึกว่าโครงมอเตอร์หรือแบริ่งมีความร้อนหรือมีการสั่นสะเทือนมากเกินไป แสดงว่าเกิดปัญหาในบริเวณนั้นซึ่งควรมีการตรวจสอบเพื่อหาสาเหตุและขจัดปัญหาออกไป
• การตรวจสอบการสตาร์ท โดยปกติกระแสสตาร์ทของมอเตอร์ที่มีค่าสูงๆ จะทำให้เกิดความร้อนขึ้นในตัวมอเตอร์เอง ดังนั้นสำหรับมอเตอร์ที่มีขนาด 200 แรงม้าหรือต่ำกว่า ควรมีค่าเวลาในการสตาร์ทขณะที่มีโหลดขนาดใหญ่ต่ออยู่ไม่เกิน 20 วินาที และมอเตอร์ไม่ควรมีค่าเวลาในการสตาร์ทรวมเกิน 150 วินาทีต่อวัน
• การตรวจสอบแรงดันไฟฟ้า มอเตอร์จะทำงานได้ดีและมีประสิทธิภาพสูงเมื่อได้รับระดับแรงดันไฟฟ้าที่ถูกต้อง รวมถึงแรงดันที่สมดุลและปราศจากฮาร์มอนิก โดยแรงดันไฟฟ้าที่ไม่สมดุลเกิน 2% จะเพิ่มความสูญเสียได้ถึง 25% ดังนั้นแรงดันที่ป้อนให้กับมอเตอร์ไม่เสียสมดุลเกิน 1% นอกจากนี้ระดับแรงดันไฟฟ้าควรมีค่าใกล้เคียงกับค่าแรงดันพิกัดของมอเตอร์ สำหรับแรงดันที่มีฮาร์มอนิกปะปนมากจะทำให้มอเตอร์เกิดความร้อนผิดปกติทำให้อายุการใช้งานสั้นลงได้