การบำรุงรักษาน้ำมันเชื้อเพลิงไบโอดีเซล
เครื่องยนต์ดีเซล มีหลักการทำงานโดยการอัดอากาศภายในกระบอกสูบให้มีอุณหภูมิสูงขึ้นจนสามารถเกิดการจุดระเบิดจากเชื้อเพลิงที่ถูกอัดพ่นเข้าไปและให้พลังงานออกมาขับเคลื่อนอุปกรณ์ที่ต่อกับเครื่องยนต์ ซึ่งเชื้อเพลิงที่ใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลก็คือ น้ำมันดีเซลนั่นเอง
ปัจจุบันน้ำมันดีเซลที่มีจำหน่ายทั่วๆไปตามสถานีบริการน้ำมัน จะมีส่วนผสมของไบโอดีเซล (Biodiesel) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นสารประกอบเอสเตอร์ของกรดไขมัน ที่ได้จากการนำน้ำมันพืช น้ำมันสัตว์ มาทำปฏิกิริยาทรานเอสเทอริฟิเคชั่นโดยการเติมแอลกอฮอล์และตัวเร่งปฏิกิริยา มีออกซิเจนผสมอยู่ในโครงสร้างโมเลกุล มีค่าซีเทน ประมาณ 56-58 ปริมาณกำมะถันต่ำ สามารถเผาไหม้ได้สมบูรณ์ เกิดควันและฝุ่นน้อยกว่า จึงเป็นเชื้อเพลิงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ไบโอดีเซลยังมีคุณสมบัติในการหล่อลื่นสูง สามารถช่วยลดการสึกหรอของเครื่องยนต์ได้เป็นอย่างดี แต่มีข้อจำกัดในเรื่องของระยะเวลาการเก็บรักษา เนื่องจากเกิดออกซิเดชันได้เร็วกว่าน้ำมันดีเซลเกิดการปนเปื้อนได้ง่ายกว่าซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเครื่องยนต์ในระยะยาว ไบโอดีเซลที่กล่าวถึงโดยทั่วไปจะหมายถึงไบโอดีเซลบริสุทธิ์ จะใช้สัญลักษณ์ B100 หมายถึงน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีไบโอดีเซลเพียงอย่างเดียว แต่ถ้าเป็นไบโอดีเซลผสมจะใช้สัญลักษณ์ BX ซึ่งหมายถึง น้ำมันเชื้อเพลิงที่ประกอบด้วยไบโอดีเซลร้อยละ X และดีเซลร้อยละ 100-X เช่น B10 หมายถึงน้ำมันเชื้อเพลิงที่ประกอบด้วยไบโอดีเซลร้อยละ 10 ผสมกับน้ำมันดีเซลร้อยละ 90 เป็นต้น
กรมธุรกิจพลังงานได้ออกมาประกาศให้น้ำมันดีเซล B10 เป็นน้ำมันดีเซลเกรดมาตรฐานของประเทศและให้เรียกชื่อว่า “น้ำมันดีเซล” ส่วนน้ำมันดีเซล B7 ซึ่งมีส่วนผสมของไบโอดีเซล 7% จะเป็นน้ำมันทางเลือก รวมถึงน้ำมันดีเซล B7 พรีเมี่ยม ที่ได้มาตรฐาน EURO 5 มีค่ากำมะถันลดลงกว่าเดิม เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีการเติมสารเพิ่มคุณภาพเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานแต่ก็จะมีราคาที่สูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นน้ำมันดีเซลที่มีจำหน่ายในสถานีบริการน้ำมันทุกแห่งในประเทศไทย จะมีส่วนผสมของไบโอดีเซลทั้งสิ้น
น้ำมันดีเซลในปัจจุบันซึ่งมีส่วนผสมของไบโอดีเซล มีข้อจำกัดในเรื่องของระยะเวลาการเก็บรักษา เนื่องจากไบโอดีเซลจะเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันได้เร็ว ทำให้เกิดการปนเปื้อนของน้ำ จุลินทรีย์ รวมไปถึงอนุภาคของแข็งต่างๆได้ง่าย โดยทั่วไปน้ำมันดีเซล จะเริ่มเสื่อมสภาพภายใน 6 เดือนหรือเร็วกว่านั้น ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมการเก็บรักษา โดยหากนำเชื้อเพลิงที่เก็บไว้เป็นระยะเวลานานและมีการเสื่อมสภาพมาใช้งานกับเครื่องยนต์ จะส่งผลกระทบต่อเครื่องยนต์ในระยะสั้นและระยะยาว เช่น ไส้กรองน้ำมันเชื้อเพลิงอุดตัน ปั๊มน้ำมันเชื้อเพลิงล้มเหลว ไม่สามารถส่งเชื้อเพลิงได้อย่างสม่ำเสมอ ทำให้เครื่องยนต์ดับได้ เกิดผลกระทบต่อหัวฉีด เกิดการอุดตัน เสียหาย ส่งผลให้ประสิทธิภาพเครื่องยนต์ลดลง เช่น กำลังลดลง รอบเครื่องต่ำลง อัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันสูงขึ้น เกิดควันพิษและเสียงรบกวนมากขึ้น โดยมากจะเกิดขึ้นอย่างกะทันหันทำให้เครื่องยนต์เสียหายและหยุดทำงาน นำมาซึ่งค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมที่สูง ดังนั้นการเก็บรักษาน้ำมันดีเซลให้มีคุณภาพ มีความพร้อมในการใช้งานอยู่เสมอจึงเป็นสิ่งที่ควรตระหนัก นอกจากจะทำให้เครื่องยนต์ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ มีความน่าเชื่อถือแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงที่เกิดจากการสึกหรอและความเสียหายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต
แนวทางในการบำรุงรักษาน้ำมันดีเซลมีขั้นตอนดังนี้
- สุ่มเก็บตัวอย่างน้ำมันดีเซล จากบริเวณด้านล่างของถังน้ำมัน เพื่อให้ได้ตัวอย่างที่มีการปนเปื้อนมากที่สุด
- ตรวจสอบคุณภาพของน้ำมันดีเซล การปนเปื้อน โดยส่งตรวจสอบกับห้องปฏิบัติการ หรือ ชุดตรวจสอบทันที
- ดำเนินการปรับปรุงหรือรักษาคุณภาพน้ำมันอย่างรวดเร็ว โดยเริ่มจากการทำความสะอาดถังน้ำมัน เดิมและ ติดตั้งระบบบำรุงรักษาน้ำมันดีเซล (Fuel Polisher) ซึ่ง เป็นกระบวนการทำความสะอาดน้ำมันและขจัดสิ่งสกปรก เช่น น้ำ การปนเปื้อนของจุลินทรีย์ และกากตะกอน ที่เป็นอันตรายต่อเครื่องยนต์ด้วยกระบวนการกรองทางกล เพื่อให้น้ำมันดีเซลกลับเข้าสู่สภาพที่เหมาะสมที่สุด ควบคู่กับการเติมสารเติมแต่ง (Additive) เพื่อป้องกันการเกิดออกซิเดชัน รักษาเสถียรภาพ ยับยั้งการกัดกร่อน การปนเปื้อนของจุลินทรีย์ โดยระบบนี้จะไม่รบกวนการทำงานของเครื่องยนต์ เนื่องจากระบบจะดูดน้ำมันออกจากถังผ่านการกรองและหมุนเวียนกลับเข้าไปในถังเดิม ดังรูป
4. ทำการทดสอบน้ำมันดีเซลเป็นประจำ เพื่อทราบแนวโน้มที่ไม่พึงประสงค์ในคุณภาพของน้ำมัน
เครื่องกำเนิดไฟฟ้าและส่วนประกอบต่างๆ มีความจำเป็นต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงที่มีคุณภาพเพื่อทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพตามที่ผู้ผลิตได้ออกแบบไว้ หากใช้น้ำมันดีเซลที่ไม่ได้มาตรฐาน มีสิ่งปนเปื้อนและเสื่อมสภาพ การสึกหรอและความเสียหายของส่วนประกอบทีละน้อย อาจนำไปสู่การซ่อมแซมที่มีราคาแพง ดังนั้น ความเข้าใจถึงการปนเปื้อนของน้ำมันดีเซล สาเหตุ ผลกระทบ วิธีการทดสอบ และวิธีการรักษาป้องกัน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะปกป้องไม่ให้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะใช้งานไม่ได้ และเกิดผลต่อเนื่องต่อการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน